:: "THINGS" โปรดักท์ดีไซน์ ผลผลิต "จับคู่" ธุรกิจ ::
โดย อัญชรี พรหมสกุล
BIZWeek / November 2005
->"Thing" ของขวัญหน้าตางามๆ ที่เริ่มจากงาน "กราฟฟิกดีไซน์" ไปจับคู่กับธุรกิจผลิตกล่องกระดาษ สร้างคุณค่าของงานออกแบบและประโยชน์ใช้สอยที่ลงตัว แฝงตัวอยู่ในบิซิเนสโมเดลที่เข้มแข็ง และปราศจากความเสี่ยง
การขับเคลื่อนธุรกิจเพียงลำพังไม่ใช่บิซิเนสโมเดลที่ดีสำหรับปัจจุบันอีกต่อไป เมื่อธุรกิจรายล้อมด้วยคู่แข่ง การจับคู่ธุรกิจเป็นฐานที่แข็งแกร่งให้กับทางธุรกิจ
"ทุกวันนี้ถ้าเราอยู่คนเดียว เราจะเหนื่อยมาก เวลาเราจะทำอะไรก็จะสำเร็จยาก ผมเรียกว่ามาช่วยกันดีกว่า เพราะทางนั้นก็มีความสามารถเรื่องการผลิต ส่วนเราถนัดด้านการออกแบบ เราต้องมาช่วยกัน ไม่อย่างนั้นเราต้องไปเปิดโรงงาน เขาต้องไปเปิดบริษัทออกแบบ "สันติ ลอรัชวี" ที่ปรึกษาด้านการออกแบบแห่ง บริษัทภาคปฏิบัติ เชื่อมั่นในแนวทางนี้
ในที่สุด การสร้างสรรงานโปรดักท์ดีไซน์ เกิดการร่วมทุนกันระหว่างองค์กรที่ใช้ "ทุนสมอง" ในการขับเคลื่อนอย่างภาคปฏิบัติ กับ บริษัท Precious Box ที่มี "ทุนการผลิต" เป็นโรงงานรับจ้างผลิตกล่อง ไอเดียเฉียบนี้ "จุดไฟ" ในการสร้างแบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า "Things" ซึ่งได้ปฏิวัติรูปแบบสเตชั่นนารี่แบบเดิมให้หวือหวา และมีสีสันขึ้นโดยเพิ่มความเป็นคราฟ (Craft) ผสมผสานเข้าไปกับงานกราฟฟิกอย่างลงตัว ด้วยการนำวัสดุแปลกๆ ใหม่ๆ มาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ "สื่อ" ถึงความหลากหลายของงานกราฟฟิก
"เราร่วมทุนกันโดยที่บริษัทเราเป็นผู้ออกแบบสินค้าให้กับ Precious Box มาได้ 1 ปีแล้ว เพราะทางนั้นก็มีความสามารถเรื่องการผลิต ส่วนเราถนัดด้านการออกแบบ เราต้องมาช่วยกัน ไม่อย่างนั้นเราต้องไปเปิดโรงงาน และเขาต้องไปเปิดบริษัทออกแบบ" สันติ กล่าว
"เราค่อนข้างมั่นใจขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีคนเห็นด้วยกับเรามากขึ้นเรื่อยๆ วัดจากจำนวนที่มาสั่งออเดอร์สินค้า รวมไปถึงงานว่าจ้างที่ลูกค้าปล่อยให้เราทำ ลูกค้ามาจ้างเราทำงานเพราะต้องให้เราทำจริงๆ สิ่งนี้เป็นจุดที่ทุกคนอยากจะได้และอยากจะทำ เหมือนกับว่าเดินมากินก๋วยเตี๋ยวร้านนี่เพราะว่าต้องร้านนี้" สันติ อธิบาย
ในเมื่อผลงานเข้าตากรรมการ ห้างสุดฮิพ "เพลย์กราวนด์" ก็ได้ว่าจ้าง บริษัทภาคปฏิบัติออกแบบสมุดโน้ต เพื่อวางจัดจำหน่ายในเพลย์กราวนด์ภายใต้แบรนด์ของห้างเองเช่นกัน
เขา บอกว่า "หัวใจ" สำคัญที่ส่งผลให้ภาคปฏิบัติโตอย่างรวดเร็ว มาจากการยึดสามารถด้านการออกแบบกราฟฟิกดีไซน์เป็นหลักในการต่อยอดบิซิเนส ภายใต้แบรนด์ PRACTICAL™
ทุกครั้งที่ PRACTICAL™ จะมีคอลเลคชั่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด นักออกแบบจะต้องมาระดมสมองเพื่อ "เฟ้น" หาธีมเพื่อนำมาเป็นไอเดียในการสร้างแพทเทิร์น และลวดลายกราฟฟิกดีไซน์ เมื่อได้ประเด็นที่ลงตัวที่สุดแล้ว ต้อง "สื่อสาร" ประเด็นนั้นๆ ให้เป็นรูปร่างผ่านงานกราฟฟิก ก่อนจะนำผลงานไปใช้ในการออกแบบสินค้า
"เราจะคุยกันในทีมว่าเราสนใจหัวข้ออะไร แล้วก็มาคุยกันก่อนเพื่อจะสร้างแพทเทิร์น ลวดลาย แล้วก็มาดูว่าแพทเทิร์นนั้น มันสามารถนำไปเป็นผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง ตรงนี้จะต่างจากบริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ที่อื่นที่เขาต้องมาคิดว่าจะทำโพรดักท์อะไร แต่ถ้าเป็นเราจะสตาร์ทว่าจะทำกราฟฟิกอะไร"
สันติเล่าว่า ที่สำคัญผลงานในแต่ละซีรีส์จะต้องใช้งานกราฟฟิก "สื่อสาร" กับลูกค้าได้เข้าใจ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของรูปธรรมและนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ความหมายของตัวเลขไทย (Numerology), ดอกบัว, เรื่องราวใต้ท้องทะเล, รามเกียรติ์, ยันต์, หนังตะลุง, ลายกนก, การพักผ่อน โดยที่งานกราฟฟิกจะต้องออกมาในแนวโมเดิร์น ไม่ขัดเขินกับไลฟ์สไตล์
ตัวอย่างงานกราฟฟิกที่สื่อสารกับผู้คนได้ไม่ยาก และเป็นเรื่องใกล้ตัว อย่างเรื่องราวของความรักที่เขาตีโจทย์ออกมาเป็น 4 รูปแบบ คือ ความรักที่เกี่ยวรัดกันของ 2 สิ่งอย่าง ดอกไม้กับผีเสื้อ หรือ Love is all around คือ การมอบของขวัญแทนความรัก
The Relationship ความรักที่มีความสัมพันธ์ซับซ้อน และ Two sides of love
ความรักมี 2 ด้าน ถ้าเปรียบเทียบต้นไม้ที่จะกำลังงอกเงยก็มีรากเติบโตอีกส่วนหนึ่งด้วย
เมื่อตีความงานกราฟฟิกที่ได้ลงตัวทีมงานจะนำธีมที่ได้มาสร้างผลงาน เช่น สมุดโน้ตที่มีลวดลายเป็นตัวแทนของความรัก ในรูปแบบทั้ง 4 ซึ่งเป็นซีรีส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
ไม่แค่คอนเซปต์ของงานดีไซน์เท่านั้น แต่การผลิตยังนำไปสู่รูปแบบดีไซน์ใหม่ บ่อยครั้งที่จะเห็นงานสร้างสรรค์ของ Thing ปฏิวัติรูปแบบโปรดักท์ดีไซน์ใหม่ๆ มีการเสาะหา "วัสดุ" และ "เทคนิค" ที่ไม่เคยนำมาใช้ในการผลิตสเตชั่นนารี่มาก่อน เช่น การนำหนังกลับใช้เป็นหน้าปกสมุด หมอนอิงที่มีเทคนิคการปักแบบใหม่ๆ การใช้เทคนิคแบบปั๊มจม (Deboss) และการสกรีนลงบนหนัง PVC ลงบนปกสมุดโน้ต, การเย็บสมุดด้วยวิธีการเย็บกระเป๋า
การแสวงหาวัสดุใหม่ๆ และเทคนิคพิเศษจากโรงงานต่างๆ จึงเป็นงานหนักอีกอย่างที่ทำให้สินค้าจากภาคปฏิบัติแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแบรนด์อื่นๆ
วันนี้ ทิศทางของภาคปฏิบัติจึงมี "จุดยืน" ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ใช้ความงดงามของ "ศิลปะ" เป็นชีพจรในการสร้างสรรค์ผลงาน
"เราต้องทำอะไรที่ไม่ขัดกับอะไรบางอย่างในใจ เพราะผมโตมาจากสายออกแบบจะรู้ว่าถ้าเราทำอะไรที่ไม่ชอบจะทำไม่ได้นาน แต่ที่ปรับเป็นเรื่องของปัจจัย ช่องทางในการทำธุรกิจ อาจจะต้องขยับเลี้ยวซ้ายนิด เลี้ยวขวาหน่อย
สิ่งที่ชอบก็คือ สิ่งที่เราได้นำเสนอ นักออกแบบส่วนใหญ่เป็นคนชอบเสนอความเห็นและผลงานของตัวเอง ตราบใดที่ออฟฟิศนี้ยังมีพื้นที่ให้นักออกแบบได้นำเสนอความเห็นและผลงานของตัวเอง นั่นก็ยังอยู่ในจุดที่เราแฮปปี้ โจทย์ของเราง่ายมากแต่ทำยาก.. ทำยังไงจะนำเสนอสิ่งที่ตัวเองอยากจะนำเสนอ แล้วคนอื่นเห็นด้วย"
การเปิดกว้างทางความคิดให้นักออกแบบและพนักงานในบริษัทมี "อิสระ" ในการสรรหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ มาใช้ในการสร้างผลงาน เป็นพลังที่เชื่อมให้ทุกคนทำงานใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
"ความคิดจะมาเป็นแรงปะทุ มาไม่เป็นเวลา เพียงแต่ว่าถ้ามีก็ต้องเก็บไว้ เราไม่มีรอบการทำงาน ตรงนี้จะดีตรงที่ไม่มีใครมาสั่งว่าเราจะต้องทำอะไร เด็กๆ มีอะไรก็มาบอกๆ มาแชร์กันได้ ว่าเรื่องไหนอยู่ในความสนใจ อะไรคิดว่าเวิร์คก็ทำเลย อะไรที่คิดว่ายังไม่ถูกขัดเกลา ถูกค้นคว้าเพิ่มก็หยุดตามเวลา ถ้ามีเวลาก็เอาไปค้นคว้าเพิ่ม ถ้ามีเวลาก็เอาไว้ก่อน" สันติ อธิบาย
ภาคปฎิบัติในวันนี้จึงเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าทีมงานได้นำ "ทฤษฎี" มาใช้ในการ "ปฏิบัติ" ได้จริง
"ทฤษฎีกับปฏิบัติ หลายๆ คนมองแล้วว่าคานกัน แต่ว่าไม่มีงานปฏิบัติไหนที่ไม่มาจากทฤษฎี เพียงแต่ว่าทฤษฎีนี้ถูกเขียนขึ้นมารึเปล่า การทำนาถามว่ามีทฤษฎีมั้ย ผมว่ามี เพียงแต่ว่ากระบวนการทำนาของชาวบ้านไม่เคยถูกเขียนหรือรวบรวมเป็นบทความ ทฤษฎีทำหน้าที่ให้เรารู้ว่า เราเข้าใจในสิ่งที่เราปฏิบัติมากแค่ไหน และเข้าใจปรากฏการณ์ในสิ่งที่เราทำไป" สันติ กล่าวทิ้งท้าย
Thursday, November 24, 2005
Subscribe to:
Posts (Atom)